วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

วิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสารเเละการสืบค้น

คำว่า บูรณาการซึ่งใช้กันอยู่ทั่วไปในปัจจุบันนี้ เข้าใจกันว่าหมายถึงคำว่า integration คำนี้ถ้าเป็นศัพท์ทางสังคมวิทยาจะใช้ว่า บูรณาการรวมหน่วยมีความหมายว่า การนำหน่วยที่แยกๆ กันมารวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันถ้าเป็นศัพท์คอมพิวเตอร์จะมีคำว่า integrated ซึ่งมีความหมายว่า เบ็ดเสร็จตัวอย่างเช่น “integrated circuit (IC)” “วงจรรวม, วงจรเบ็ดเสร็จ (ไอซี)”   ความหมายโดยรวมก็คือ การผสมผสานแห่งคุณสมบัติ หรือกลุ่มต่างๆ กันได้เป็นอย่างดีเมื่อนำมาใช้กับภาษาก็น่าจะหมายความว่า การผสมผสานภาษากับแวดวงต่างๆ ได้เป็นอย่างดีหรือจะกล่าวอย่างง่ายๆ ก็คือ การใช้ภาษาให้ได้อย่างเหมาะสมในสังคมปัจจุบันนั่นเอง
 ธรรมชาติของภาษา
การใช้ภาษา คือการนำภาษามาใช้เพื่อสื่อความหรือสื่อสาร การสื่อความหรือสื่อสารมีผู้เกี่ยวข้องกันสองฝ่ายคือ ผู้ส่งความ กับผู้รับความ หรือผู้ส่งสารกับผู้รับสาร
                ผู้ส่งความหรือผู้ส่งสารใช้การพูดกับการเขียนเป็นเครื่องมือ ส่วนผู้รับความหรือผู้รับใช้การฟังและการอ่านเป็นเครื่องมือ
                การใช้ภาษาจะมีประสิทธิภาพได้ก็เมื่อทั้งสองฝ่ายเข้าใจความหรือสารได้ตรงตามความต้องการ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีข้อบกพร่องในการใช้เครื่องมือของตน การสื่อความหรือสื่อสารนั้นย่อมมีปัญหา
                มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความพร้อมที่จะ เรียนรู้ และ เลียนแบบ ภาษา ไม่มีเด็กคนใดที่เกิดมาก็สามารถพูดได้ทันที มีแต่ความสามารถที่จะรับรู้ข้อมูลทางด้านภาษาจากรอบตัวเข้ามา แล้ววิเคราะห์หาหลักว่าภาษาที่ได้รับมานั้นมีลักษณะอย่างไร ถ้าจะสร้างเองจะต้องทำอย่างไร เมื่อรู้หลักแล้วก็มีการจดจำและเลียนแบบข้อมูลที่ได้รับไปเรื่อยๆ มีงานวิจัยที่ยืนยันว่า เมื่อเด็กอายุ 6 ขวบ จะสามารถพูดภาษาพื้นเมืองได้ดี (ทั้งนี้รวมทั้งการฟังด้วย) คือ ออกเสียได้ชัดเจนและพูดถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ของภาษานั้นๆ แต่คำศัพท์ที่รู้อาจจะมีจำนวนจำกัด ส่วนการเขียนการอ่านนั้นจะต้องเรียนกันอย่างจริงจัง
                กล่าวอย่างง่ายๆ ก็คือ พ่อแม่ ญาติ พี่น้อง ที่เข้ามาพูดจาด้วยช่วยให้ตัวอย่างประโยค และช่วยเพิ่มคำให้แก่พจนานุกรมในหัวของเด็ก เด็กไทยไปเติบโตเมืองฝรั่ง ได้ข้อมูลเป็นภาษาฝรั่งก็พูดภาษาฝรั่ง เด็กฝรั่งมาเติบโตในเมืองไทย ได้ข้อมูลเป็นภาษาไทย ก็พูดภาษาไทย ถ้าได้ข้อมูลหลายภาษาในเวลาเดียวกัน เด็กคนนั้นก็จะเป็นคนพูดได้หลายภาษา
                โครงสร้างของประโยคนั้นมีอยู่ไม่มาก คนเราสามารถรับรู้และสร้างประโยคทุกชนิดในภาษาของตนได้ในเวลาไม่นานนัก แต่ข้อมูลทางด้านคำนั้นคนเรามีไม่เท่ากัน แล้วแต่ประสบการณ์ของแต่ละบุคคล ประสบการณ์ที่ว่านี้ หมายรวมทั้งครอบครัว การศึกษา สังคม ฯลฯ
เมื่อก่อนนี้คนเรารับข้อมูลกันโดยธรรมชาติ กล่าวคือรับจากครอบครัว โรงเรียน และสังคมในวงแคบเท่านั้น แต่ทุกวันนี้ ข้อมูลเข้ามาจากแหล่งต่างๆ มากมาย ทั้งโดยธรรมชาติ และผิดธรรมชาติ ความสามารถในการเลียนแบบของมนุษย์ก็ได้ทำงานอย่างเต็มที่ คำที่พ่อแม่ครูอาจารย์ไม่เคยสั่งสอน เด็กก็สามารถที่จะใช้ได้ แต่จะเข้าใจหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตัวอย่าง เช่น เด็กชายวัย 3 – 4 ขวบ เวลาอยู่ในสวนสนุก ก็สามารถจะพูดได้ว่า เอขอควบคุมยานอวกาศ นะฮับหรือเด็กหญิงวัยเดียวกันก็อาจจะพูดกับคุณยายได้ว่า จุนยายจายก มรดก ให้บีไม้ค่ะ ซึ่งพอจะเดากันได้ว่าคงจะได้มาจากภาพยนตร์ โทรทัศน์ หรือการ์ตูนนั่นเอง หรือเด็กบางคนก็อาจจะพูดได้ว่า ฮ่วยแซบอีหลีทั้งๆ ที่พ่อแม่ก็พูดแบบนั้นไม่เป็น ซึ่งก็คงจะเดากันได้ไม่ยากว่าเอามาจากไหน นี่คือธรรมชาติของชีวิตปัจจุบันที่แหล่งข้อมูลมีกว้างขวางขึ้นกว่าสมัยก่อน ครอบครัวและโรงเรียนไม่ใช่สถาบันเพียง 2 สถาบันที่จะเป็นแหล่งข้อมูลอีกต่อไป
                ในขณะเดียวกันเด็กบางคนก็ยังมีปัญหาทางด้านภาษาจำกัด ต้องใช้เวลารับภาษาอีกพอสมควรจึงจะใช้ภาษาในสังคมนั้นๆ ได้อย่างเหมาะสม ข้อพิสูจน์ในเรื่องการรับข้อมูลทางภาษาไม่เท่ากันนี้จะเห็นได้ในรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งซึ่งให้เด็กอายุไม่เกิน 8 ขวบมาให้คำจำกัดความของคำบางคำ ปรากฏว่าเด็กจะตอบได้ตามประสบการณ์แห่งภาษาของตนเท่านั้น เช่น ดาวเทียมหมายถึง ดาวใส่กระเทียม” “เด็กแก่แดดหมายถึง เด็กที่อยู่ในแดดนานๆเป็นต้น
 ความเปลี่ยนแปลงและการยืมเป็นสิ่งธรรมดาของภาษา
ในปัจจุบันภาษาในโลกนี้มีมากกว่า 3,000 ภาษา นักภาษาศาสตร์ได้พยายามจัดหมวดหมู่ภาษาเหล่านี้โดยใช้หลักเกณฑ์ต่างๆ มากมาย เช่น ลักษณะโครงสร้าง สายกำเนิด และคลื่นภาษา เพื่อแสดงให้เห็นความเหมือน ความแตกต่าง และความสัมพันธ์ของภาษาต่างๆ เหล่านั้น
                อย่างไรก็ตามภาษาทุกภาษาในโลกนี้ ถ้ายังมีผู้ใช้กันอยู่ย่อมต้องมีความเปลี่ยนแปลงเป็นะธรรมดา ภาษาที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย ก็คือภาษาที่ตายแล้ว ซึ่งหมายความว่าผู้ที่ใช้ภาษานั้นๆ ตายหมดแล้วนั่นเอง นอกจากจะมีความเปลี่ยนแปลงในตัวเองแล้ว ภาษาที่ยังไม่ตายก็ยังมีความเกี่ยวข้องกับภาษาต่างประเทศด้วย หากผู้ใช้ภาษานั้นๆ มีการติดต่อกับผู้ที่ใช้ภาษาอื่นๆ
                ภาษาไทยก็อยู่ในลักษณะนี้เช่นกัน แต่เดิมมาเราก็มีความเกี่ยวข้องกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงเท่านั้น เช่น  ทางการเมือง มีความเกี่ยวข้องกับมอญ เขมร ญวน พม่า มลายู ทางวัฒนธรรมมีความเกี่ยวข้องกับ จีน อินเดีย และในปัจจุบันนี้ เรามีความเกี่ยวข้องกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น ทางธุรกิจและเทคโนโลยี มีความเกี่ยวข้องกับอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ฯลฯ
                ความเกี่ยวข้องในทางภาษาที่มองเห็นได้ชัดก็คือการมีคำยืมจากภาษาต่างประเทศ ถ้าเป็นคำที่ยืมกันมานานแล้วผู้ใช้ภาษาในปัจจุบันก็อาจจะไม่รู้สึกว่าเป็นคำที่มีที่มาจากต่างประเทศ เช่น บาป บุญ คุณ โทษ จมูก เก้าอี้  ถ้าเป็นคำใหม่ก็อาจจะไม่คุ้นหูในตอนแรก แต่เมื่อใช้ไปนานเข้าก็สื่อกันได้ เช่น โอเค โหวต เคลียร์ เบลอร์ ซีเรียส คอมพิวเตอร์ คำบางคำอาจจะใหม่มากเกินไปสำหรับคนทั่วไป จึงอาจจะสื่อความไม่ได้เช่น คนที่ทำเรื่องนี้ต้องการจะดิสเครดิต เขาแต่ไม่นานก็คงจะสื่อกันรู้เรื่องถ้าได้ยินและเห็นตัวอย่างของการกระทำดังว่ามากขึ้น
                พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.. 2542 ได้บันทึกไว้ว่า คำภาษาไทยส่วนหนึ่งมีที่มาจากภาษาต่างประเทศ 14 ภาษา คือ เขมร จีน ชวา ญวน ญี่ปุ่น ตะแลง เบงกาลี บาลี ฝรั่งเศส มลายู ละติน สันสฤต อังกฤษ และฮินดี อันที่จริงนอกเหนือจาก 14 ภาษานี้แล้ว ก็ยังมีภาษาอื่นๆ เช่น คำว่า สบู่มาจากภาษาโปรตุเกส เป็นต้น
                การสื่อสารอันฉับไวในปัจจุบันมีส่วนช่วยทำให้ผู้คนคุ้นเคยกับคำใหม่ๆ และสำนวนใหม่ๆ ได้เร็วยิ่งขึ้น ประโยคอย่าง เรื่องนี้ถูกตรวจสอบโดยละเอียดแล้วโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายเรากับ อาหารนี้ง่ายต่อการกินแม้จะฟังขัดหูในตอนแรก แต่ต่อไปก็อาจจะใช้กันไปทั่วเพราะได้ยินอยู่ทุกวันจนเกิดความเคยชิน ใครจะรู้ได้ว่าเมื่อตอนที่คนไทยหัดใช้คำว่า  จมูก กับ เก้าอี้ ใหม่ๆ นั้น อาจจะมีคนบางกลุ่มไม่พอใจก็ได้
                ระยะทางและเวลาไม่ใช่อุปสรรคขวางกั้นความกลมกลืนของภาษาดังในอดีตอีกต่อไปแล้วโลกกำลังจะกลายเป็นโลกเดียวกันด้วยการสื่อสารอันสะดวกและรวดเร็วปานใด ภาษาก็อาจจะกลายเป็นภาษาเดียวกันไปได้อย่างรวดเร็วปานนั้น จาก 3,000 ภาษา อาจกลมกลืนกันไปจนเหลือเพียงไม่กี่ภาษา หรืออาจจะเหลือเพียงภาษาเดียวก็ได้
                สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงก็คือไม่มีสิ่งที่เรียกว่าภาษาบริสุทธิ์ในโลกนี้ ภาษาทุกภาษาต้องมีการเปลี่ยนแปลง ภาษาทุกภาษาต่างก็ได้รับอิทธิพลและต้องปนกับภาษาอื่นๆ บ้าง
 ภาษามาตรฐาน ภาษาราชการ ภาษาประจำชาติ
                แม้จะยอมรับกันว่าภาษาย่อมมีการเปลี่ยนแปลง แต่ภาษาส่วนใหญ่ในโลกก็มีสิ่งที่เรียกว่า ภาษามาตรฐาน (standard language)” และมีปัญหาการใช้ภาษาเกิดขึ้นด้วย ทั้งนี้เพราะสมาชิกบางส่วนในสังคมใช้ภาษาผิดไปจากมาตรฐานที่สมมติกันขึ้นในสังคมนั่นเอง   อย่างไรก็ตามภาษาไทยมาตรฐานก็เป็นเพียงแบบหนึ่งของภาษไทยซึ่งมีอยู่มากมายหลายแบบ เช่น ภาษาถิ่นภาคพายัพ ภาษาอื่นภาคอีสาน ภาษาถิ่นภาคใต้ เพียงแต่ว่าภาษาไทยมาตรฐานนั้นมีความสำคัญกว่าแบบอื่นๆ ในแง่สังคมเท่านั้น หากจะกล่าวในเชิงภาษาศาสตร์แล้ว ภาษาไทยมาตรฐานก็ไม่ได้ดีไปกว่าภาษาไทยแบบอื่นแต่ประการใด ภาษาทุกภาษาและภาษาระบบที่โครงสร้งมีความซับซ้อนและมีกฎเกณฑ์เพียงพอกับความต้องการของผู้ใช้ภาษนั้นๆ ทั้งนี้เพราะไม่มีคุณสมบัติใดๆ เลยของภาษาที่ไม่เป็นมาตรฐานอันจะทำให้ภาษานั้นๆ ด้อยกว่าภาษาที่เป็นมาตรฐาน
                อาจจะมีผู้สงสัยว่า ภาษาไทยกรุงเทพฯ กับภาษาไทยมาตรฐาน เป็นภาษเดียวกันหรือไม่หากจะกล่าวว่าเป็นภาษาเดียวกันก็ไม่ผิด เพราะลักษณะเนื้อหาของภาษทั้งสองแทบจะเป็นสิ่งเดียวกัน แต่จะกล่าวว่าเป็นภาษาเดียวกัน โดยสมบูรณ์ก็ยังไม่ถูกต้องนัก นักภาษาศาสตร์จึงใช้ชื่อทั้งสองสำหรับการมองภาษาที่เหลื่อมล้ำกันจากสองมิติ คือ ในแง่ถิ่นหรือพื้นที่เรียกว่า ภาษาไทยกรุงเทพฯ แต่ในแง่บทบาทประจำชาติ ความยอมรับ หรือความสำคัญ เรียกว่า ภาษาไทยมาตรฐาน     ในบางประเทศ รัฐบาลหรือผู้นำประเทศจะเป็นผู้เลือก ภาษาประจำชาติ (national language) ในบางครั้งก็ต้องพัฒนาตัวอักษรที่เหมาะสม หรือเป็นผู้ตัดสินใจว่าควรจะเลือกเอาภาษาเฉพาะกลุ่มภาษาใดหรือลักษณะทางภาษาลักษณะใดมาประกอบในการพัฒนาภาษาประจำชาติด้วย
สำหรับประเทศไทยนั้น ก่อนที่จะมีอักษรไทยใช้ ภาษาไทยก็ได้อาศัยใช้อักษรของขอมโบราณและมอญโบราณมาก่อน ทั้งนี้เพราะภาษากับตัวเขียนนั้นเป็นคนละเรื่องกัน ภาษาแต่ละภาษาอาจจะเลือกตัวอักษรหรือสัญลักษณ์ขึ้นมาแทนได้หลายแบบ แล้วแต่ความเหมาะสม เป็นที่เชื่อถือกันว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อ พ.. 18261 จากนั้นตัวอักษรไทยก็

มีวิวัฒนาการมาโดยตลอด จนกระทั่งมีรูปแบบดังที่ยอมรับกันอยู่ในปัจจุบันนี้ รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนการทำภาษาให้เป็นมาตรฐานมาโดยตลอด ทั้งนี้เพื่อทำให้เกิดการติดต่อสื่อสารง่ายขึ้น เพื่อให้มีตัวอักษรประจำภาษา และเพื่อให้ตำราเรียนมีรูปแบบเดียวกันหมด หน่วยงานของรัฐบาลในปัจจุบันซึ่งทำหน้าที่ดังกล่าวนี้ก็คือ ราชบัณฑิตยสถาน โดยมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้ใช้ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.. 2542 เป็นมาตรฐานสำหรับใช้ในการเขียนหนังสือไทยเพื่อให้เป็นระเบียบเดียวกัน และบรรดาหนังสือราชการและการศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนให้ใช้สะกดตามระเบียบและพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.. 2542 เสมอไป

วิชาวิถีไทย เรื่องภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อการพัฒนาชุมชนเเละสังคม

ภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคมไทย

1. แนวคิดสองกระแส

ในช่วงที่เพิ่งผ่านมานี้ ความล้มเหลวของการพัฒนาประเทศไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทุกหนทุกแห่งทั่วโลกที่ถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งมีวิธีคิดแบบแยกส่วน เน้นความเติบโตของเศรษฐกิจระดับมหภาค ขาดความสนใจผู้คนและชุมชนที่ถือเป็นฐานรากของประเทศ แม้ว่าวัฒนธรรมนี้ได้วางรากฐานทางวัตถุแก่โลกนานัปการ โลกที่เคยกว้างใหญ่ไพศาลกลับเล็กลงด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม ประชากรแทบทุกส่วนในโลกสามารถติดต่อและได้รับผลกระทบซึ่งกันและกัน   จนโลกปัจจุบันมีสภาพไร้พรมแดน หรือโลกาภิวัฒน์ (Globalization)
แต่อีกด้านของความเติบโตทางวัตถุก็ก่อให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจำนวนมหาศาล และที่สำคัญคือ ผู้คนได้สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง ไร้ศักดิ์ศรี และรู้สึกโดดเดี่ยวเพราะถูกตัดขาดจากกันทางสังคม ทำให้เกิดแนวคิดอีกกระแสหนึ่งขึ้นเรียกว่า กระแสชุมชนท้องถิ่น (Localization) ที่ให้ความสำคัญแก่คนและชุมชนในการกำหนดแนวทางการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับสังคมวัฒนธรรมของตน เพื่อให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความหมาย มีค่าและมีศักดิ์ศรี เป็นแนวคิดที่มองทุกสิ่งทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกันแบบองค์รวม
ในช่วง 20 กว่าปีมานี้ การวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาประเทศ อันเป็นผลจากการปะทะกันระหว่างแนวคิดสองกระแสดังกล่าวได้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมของเรา  การนำเสนอประสบการณ์ของชาวบ้านและชุมชนในทุกส่วนของประเทศที่ประสบความสำเร็จจากการพัฒนาบนพื้นฐานทางสังคมวัฒนธรรมได้เรียกร้องให้ผู้คนหันกลับมาทบทวนแนวคิดและแนวทางการพัฒนาประเทศใหม่ จนกระทั่งแนวคิดใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเคยเป็นกระแสรองมาก่อนหน้านี้ได้กลายเป็นกระแสหลักของการพัฒนาประเทศในปัจจุบัน
การนำแนวคิดใหม่มาใช้ในการพัฒนาประเทศ จะเกิดขึ้นไม่ได้ภายใต้การกฎเกณฑ์ และกติกาการพัฒนาประเทศแบบเก่า ด้วยเหตุนี้ การแก้ไขระเบียบกฏหมายของประเทศเพื่อให้สอดรับกับทิศทางใหม่นี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น เห็นได้จากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อปี พ..2540 ที่กำหนด
ให้มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีอิสระมากขึ้นในการกำหนดทิศทางของตนเอง และการปฏิรูปการศึกษา ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของชาวบ้านและชุมชนมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนั้น การประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (..2540-2544) ที่กำหนดให้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (..2545-2549) ที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน และใช้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้นำการพัฒนา เหล่านี้ล้วนยืนยันให้เห็นอิทธิพลของแนวคิดใหม่ในการพัฒนาประเทศอย่างชัดเจน
2.พัฒนาการของภูมิปัญญาชาวบ้าน
ภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในช่วงที่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ทิศทางการพัฒนาประเทศกำลังแพร่หลายในสังคมไทย หรือเมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ผลจากการปะทะกันของความคิดสองกระแสดังกล่าวข้างต้น ช่วยให้สังคมไทยมีโอกาสทบทวนแนวคิดและทิศทางการพัฒนาในอดีต แสวงหาทางเลือกที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสังคมของเรา
การพัฒนาชนบท ซึ่งเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คนจำนวนมากที่สุดในประเทศไทยนั้น แต่เดิมเป็นหน้าที่หรืองานของรัฐ กิจกรรมหรืองานพัฒนาในยุคแรกๆเกิดขึ้นบนพื้นฐานการมองประชาชนในฐานะโง่ จน เจ็บ ขาดความรู้เรื่องการทำมาหากิน ล้าหลัง ไม่ทันสมัย และด้อยพัฒนา เจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐจึงมีหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือคนเหล่านั้นให้มีความรู้และรายได้เพิ่มขึ้น โดยการฝึกอบรมอาชีพ จัดหาแหล่งทุน และบางครั้งก็ช่วยจัดการด้านการตลาด บทบาทของชาวบ้านเป็นเพียงผู้รับ ส่วนรัฐเป็นผู้ให้ แนวทางการพัฒนานี้ได้กลายเป็นหลักในการทำงานในช่วง 20 ปีแรกของการพัฒนาชนบทไทย คือระหว่าง พ..2503-2523
แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว แนวคิดในการพัฒนาชนบทไทยจะเปลี่ยนไปบ้าง จากการเน้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มรายได้ให้ประชาชนมาเป็นแนวเศรษฐกิจ-สังคม เพราะเห็นว่าการพัฒนาต้องกะทำควบคู่กันทั้งสองด้าน จึงนำเรื่องกลุ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่วิธีทำงานก็ยังไม่เปลี่ยนไปจากเดิม คือหน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กำหนดและมีบทบาทสำคัญเหนือชาวบ้านตลอดมา
ปี พ..2524 ได้เกิดปรากฎการณ์สำคัญที่นำไปสู่การพลิกโฉมการพัฒนาชนบทไทยในเวลาต่อมา กล่าวคือ องค์กรเอกชน (Non-Government Organization =NGO) ที่ทำงานด้านการพัฒนาชนบทจำนวนหนึ่งได้ร่วมกันวิเคราะห์งานที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนั้น พร้อมกับตั้งคำถาม 25 ข้อ และจัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มเล็กๆชื่อ ใครพัฒนาใคร คำถามเหล่านี้เกิดจากงานพัฒนาที่ทำไปแล้วได้สร้างปัญหาให้ชาวบ้านมากมาย และวิธีการทำงานก็ยังเป็นแบบเดิม คือการสอน การบอกเล่า การจัดกระบวนการ และช่วยชาวบ้านทำงาน
ย้อนหลังไปเมื่อปี พ..2510 องค์กรเอกชนที่ทำงานด้านการพัฒนาชนบทได้เกขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย คือมูลนิธิบูรณะชนบนแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งมูลนิธินี้ คือ ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีองค์กรทางศาสนา โดยเฉพาะศาสนาคริสต์ทั้งนิกายโปรเตสแตนท์และแคธอลิคต่างได้ทำงานพัฒนาชนบทแนวใหม่มาตั้งแต่ปี พ..2508  และได้ก่อตั้งสภาแคธอลิคแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนาขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ..2516 หน่วยงานทั้งสองนี้ได้เป็นแหล่งประสบการณ์ของนักพัฒนาและองค์กรเอกชนพัฒนาชนบทรุ่นต่อๆมา
ผลจาการวิเคราะห์การทำงานและตั้งคำถามตามที่กล่าวข้างต้น ทำให้นักพัฒนาเอกชนกลุ่มนี้และนักวิชาการจำนวนหนึ่งได้ร่วมกันจัดสัมมนาเรื่อง วัฒนธรรมกับการพัฒนาชนบท เมื่อปลายปี พ..2524 เพื่อแสวงหาแนวทางให้การพัฒนาตั้งอยู่บนฐานวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งหมายถึงการพิจารณาสภาพที่เป็นจริงของวิถีชีวิตชาวบ้าน ความเป็นมาหรือประวัติศาสตร์ ศักยภาพและพลังที่มีอยู่ในชุมชน
 ที่สำคัญ การสัมมนาในครั้งนี้ได้ชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรรมกับการพัฒนาไม่ใช้สองสิ่งที่แยกจากกัน แต่เป็นสิ่งเดียวกัน การพัฒนาคือการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมไปสู่สิ่งที่ดีกว่า นอกจากนั้น ยังเกิดการยอมรับว่าไม่มีใครรู้ปัญหาชาวบ้านดีไปกว่าชาวบ้าน และไม่มีใครแก้ปัญหาชาวบ้านได้ดีกว่าชาวบ้าน ฉะนั้นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวบ้านได้รวมตัวกันแก้ปัญหาของชุมชนจึงเป็นสิ่งจำเป็น
หากวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้น จะพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้สะท้อนลักษณะที่เป็นสากลและลักษณะเฉพาะของการพัฒนาชนบทไทยไปพร้อมกัน ลักษณะที่เป็นสากลก็คือ การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองได้ส่งผลกระทบต่อแนวคิดและทิศทางการพัฒนาของไทยตลอดช่วง 2 ทศวรรษแรกของการพัฒนา หลังจากนั้นการทำงานได้หันเข้าสู่ลักษณะเฉพาะที่ให้ความสำคัญต่อวัฒนธรรมชุมชน การค้นหาประสบการณ์ระดับชุมชน ทำให้เกิดทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ที่เกิดจากสภาพที่เป็นจริงของอดีตและปัจจุบันของสังคมไทย และการแสวงหาความร่วมมือจากทุฝ่าย ทั้งหมดนี้เป็นการพัฒนาอย่างรอบด้าน มีรากฐานอยู่ที่ระบบคุณค่าดั้งเดิม และแสวงหารูปแบบใหม่เพื่อสืบทอดจิตวิญญาณแห่งอดีตและการพึ่งตนเอง
สำหรับองค์กรเอกชนด้านการพัฒนาชนบท การสัมมนาในครั้งนั้นได้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการปรับยุทธวิธีในการทำงาน คนเหล่านี้ได้ลงพื้นที่ เข้าหมู่บ้าน ทรรศนะเปิดกว้าง ยอมรับคุณค่า และศักยภาพของชาวบ้าน ส่งผลให้ค้นพบผู้นำที่มีความสามารถ และบางคนได้รับการยกย่องเป็นปราชญ์ชาวบ้าน คนเหล่านี้มีภูมิปัญญาที่ประกอบด้วยภูมิรู้และภูมิธรรม
อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกๆ คำว่าภูมิปัญญาชาวบ้านใช้สื่อความหมายกันในวงนักพัฒนาเอกชนกลุ่มเล็กๆแล้วค่อยกระจายออกสู่หน่วยงานอื่นในเวลาต่อมา
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานภาครัฐที่ให้ความสนใจต่อภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นหน่วยงานแรก  ดร.เอกวิทย์  ณ ถลาง ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานแห่งนี้ในขณะนั้นได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และได้จัดการประชุมสัมมนาครั้งสำคัญขึ้น 2 ครั้ง  ครั้งแรกจัดขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี พ..2533 ในหัวข้อ ภูมิปัญญาชาวบ้าน และครั้งที่สอง จัดขึ้นที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ..2534 ในหัวข้อ ภูมิปัญญาชาวบ้านกับการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมและการพัฒนาชนบท การสัมมนาทั้งสองครั้งนี้เป็นแรงผลักดันสำคัญให้แนวคิดนี้เข้าสู่แนวนโยบายของรัฐ ดังเห็นได้จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (..2535-2539) ในส่วนที่ว่าด้วยวัฒนธรรมกับการพัฒนา
3.ความหมายของภูมิปัญญาชาวบ้าน
1.1   การให้ความหมาย  นักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้อง สนใจงานด้านภูมิปัญญาต่างเห็นพ้องต้องกันในการให้ความหมายภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ให้ความสำคัญต่อองค์ความรู้  ความรู้ และความรอบรู้ในด้านต่างๆของชาวบ้าน และชาวบ้านสามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาใช้แก้ปัญหาที่ต้องประสบในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ชีวิต ครอบครัว และชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข หรือเกิดดุลยภาพในทุกระดับ
1.2   องค์ประกอบ การให้ความหมายดังกล่าวข้างต้น ทำให้สามารถแยกองค์ประกอบของภูมิปัญญาชาวบ้านให้เห็นเด่นชัดขึ้น ดังนี้
1.3   องค์ความรู้  หมายถึง ความรู้หลายอย่างมาเชื่อมโยงกันเป็นชุดความรู้  ด้วยเหตุนี้ กิจกรรมใดของชาวบ้านจะถูกยกให้เป็นกิจกรรมทางภูมิปัญญาก็ต่อเมื่อได้รับการพิสูจน์แล้วว่ากิจกรรมนั้นเกิดจากองค์ความรู้ ไม่ใช่ความรู้เดียว
ตัวอย่าง เกษตรธาตุสี่ ของนายหรน  หมัดหลี  อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา  นายหรน  หมัดหลีเริ่มต้นทำการเกษตรจากการรู้จักชีวิตและครอบครัวของตัวเอง ในฐานะเกษตรกรยากจน เขาต้องรู้จักพืชที่ต้องการจะปลูกทุกชนิดเป็นอย่างดี และนำความรู้เหล่านั้นมาวางแผนการเพาะปลูก พืชชนิดใดจะให้ผลภายใน 1 เดือน  3 เดือน  6 เดือน  และ12 เดือน เพื่อให้ครอบครัวมีอาหารและรายได้ตลอดปี 
                ในด้านการดูแลหรือบำรุงรักษาต้นไม้ นายหรน  หมัดหลีมีวิธีปฏิบัติที่สอดคล้องกับธรรมชาติ เช่น ไม่ถางหญ้าในหน้าแล้ง ใช้ปุ๋ยจากซากพืชซากสัตว์ที่เน่าเปื่อย และไม่ตัดแต่งกิ่ง เพราะเชื่อว่าธรรมชาติจะจัดการสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวมันเอง กล่าวคือกิ่งที่อยู่ไม่ได้ ไม่เหมาะสมก็จะร่วงหล่นไปเอง
                ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเทคนิคหรือวิธีการเพาะปลูกพืช ที่ทำให้สวนของนายหรน หมัดหลีมีลักษณะเฉพาะ แตกต่างจากสวนของเกษตรกรอื่นๆ แต่สอดคล้องกับองค์ความรู้ของตนที่สั่งสมมา
การพิจารณาองค์ประกอบของภูมิปัญญาชาวบ้าน ในฐานะความรู้ที่กล่าวนี้ ทำให้สามารถวิเคราะห์ต่อไปได้ว่า ภูมิปัญญาชาวบ้านน่าจะเป็นคำเดียวกับเทคโนโลยีชาวบ้าน เพราะเทคโนโลยีได้รวมเอาความรู้และเทคนิคไว้ด้วยกัน เทคโนโลยีไม่ใช่เครื่องมือ หรือเครื่องใช้ไม้สอยเพียงอย่างเดียว
-   ประเภทของภูมิปัญญาชาวบ้าน ในฐานะของความรู้ ภูมิปัญญาชาวบ้านสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
1)  ภูมิปัญญาชาวบ้านที่เป็นนามธรรม ได้แก่ โลกทัศน์และชีวทัศน์ เป็นปรัชญาในการดำเนินชีวิต เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย คุณค่าและความหมายของทุกสิ่งในชีวิตประจำวัน
2)   ภูมิปัญญาชาบ้านที่เป็นรูปธรรม หรือแบบแผนความประพฤติปฏิบัติ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับลักษณะเฉพาะด้าน เช่น การทำมาหากิน การเกษตร หัตถกรรม ศิลปะและอื่นๆ
-  ภูมิปัญญาชาวบ้านเชิงกระบวนการ  นอกจากการพิจารณาภูมิปัญญาชาวบ้านในฐานะความรู้แล้ว อีกแง่หนึ่งสามารถพิจารณาได้ในเชิงกระบวนการ ซึ่งจะสอดคล้องกับสภาวะของภูมิปัญญาที่มีลักษณะเลื่อนไหล หรือพลวัตสูง ไม่หยุดนิ่งตายตัว และมีพัฒนาการตลอดเวลา
การพิจารณาภูมิปัญญาชาวบ้านเชิงกระบวนการนี้ ควรเริ่มต้นวิเคราะห์ให้เห็นการปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมสองกระแส กระแสแรกคือ วัฒนธรรมหรือแนวคิดเก่า ซึ่งเป็นสภาวะที่ดำรงอยู่ในขณะนั้น และการเข้ามาของวัฒนธรรมหรือแนวคิดใหม่ ซึ่งจะมีลักษณะขัดแย้งกัน การปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมหรือสภาวะทั้งสองกระสนี้จะนำไปสู่การปรับตัวของชาวบ้านเพื่อความอยู่รอด ผลจากการปรับตัวนี้จะนำไปสู่กระแสที่สาม หรือกระแสทางเลือก อันเป็นผลจากการสังเคราะห์วัฒนธรรม

วิชาพฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน

การเรียนรู้กับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมนุษย์

การเรียนรู้  (Learning)
เมื่อพูดถึงการเรียนรู้ หลายคนมักจะนึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ซึ่งความจริงแล้วการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ในทุกสภาพการณ์ เมื่อพิจารณาจากความหมายของการเรียนรู้ที่นักจิตวิทยากำหนดไว้อาจกล่าวได้ว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาตราบใดที่คนเรายังมีปฎิสัมพันธ์กับสังคมอยู่ นักจิตวิทยากำหนดความหมายของการเรียนรู้ไว้ดังนี้
การเรียนรู้หมายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือศักยภาพของพฤติกรรม ที่ค่อนข้างถาวร อันเกิดจากประสบการณ์ หรือการฝึกฝน  (Kimble, 1961)
จากความหมายของการเรียนรู้ดังกล่าว สิ่งที่เราจะต้องมาทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนคือพฤติกรรม (Behavior)  พฤติกรรมในที่นี้จะหมายถึงสิ่งที่บุคคลกระทำหรือแสดงออก ที่สามารถสังเกตเห็นได้หรือวัดได้ตรงกัน  พฤติกรรมสามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆด้วยกันคือ พฤติกรรมภายนอก(Overt Behavior) ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สามารถสังเกตเห็นได้โดยตรง และพฤติกรรมภายใน
(Covert Behavior) เป็นพฤติกรรมที่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้โดยตรง ถือได้ว่าเป็นพฤติกรรมส่วนบุคคล (Private Behavior) ซึ่งได้แก่ ความคิด ความรู้สึก ความรู้ ทัศนคติ  ค่านิยม และการสนองตอบทางสรีระ (การเต้นของชีพจร ความดันโลหิต การเปลี่ยนแปลงคลื่นสมอง เป็นต้น)
เป็นต้น (Spiegler & Gueuremont, 1998)
การเรียนรู้ของคนเราเกิดขึ้นได้อย่างไร
การเรียนรู้ของคนเราอาจกล่าวได้ว่าเกิดขึ้นได้สองทางด้วยกัน คือ
1.               การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง
2.               การเรียนรู้จากประสบการณ์ทางอ้อม
การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีการเรียนรู้การวางเงื่อนไขแบบการกระทำ (Operant Conditioning) ของ B. F. Skinner (Skinner, 1953) ส่วนการเรียนรู้จากประสบการณ์ทางอ้อมนั้นสามารถอธิบายได้ด้วย ทฤษฎีการเรียนรู้ทางปัญญาสังคม (Social Cognitive Theory)  ของAlbert Bandura (Bandura, 1977)
ทฤษฎีการเรียนรู้การวางเงื่อนไขแบบการกระทำ (Operant Conditioning)
ทฤษฎีนี้มีความเชื่อว่า พฤติกรรมของคนเรานั้นเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงเป็นผลมาจากการที่คนเรามีปฎิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม โดยทีสภาพแวดล้อมมีปัจจัยอยู่ 2 ตัวที่มีผลต่อพฤติกรรม ชึ่งได้แก่
เงื่อนไขนำ (Antecedents) และ ผลกรรม (Consequences) เงื่อนไขนำ คือเหตุการณ์หรือสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการเกิดพฤติกรรม เป็นปัจจัยที่บอกให้คนเรารู้ว่า เราควรทำหรือไม่ควรทำพฤติกรรมที่เราต้องการจะทำหรือไม่ เช่นสัญญานไฟแดง บอกให้เรารู้ว่าเราควรจะหยุดรถแม้ว่าเราต้องการที่จะขับรถต่อไปก็ตาม  หรือการที่เราเห็นคุณแม่อารมณ์ดี ก็จะเป็นสัญญานให้รู้ว่าถ้าจะขอเงินพิเศษ คุณแม่ก็คงจะให้เป็นต้น
ผลกรรม คือเหตุการณ์หรือสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นหลังการเกิดพฤติกรรม มีผลทำให้พฤติกรรมนั้นมีโอกาสที่จะเกิดบ่อยขึ้น สม่ำเสมอ หรือลดลง ยุติลง ในการอธิบายถึงกระบวนการเรียนรู้นั้น Skinner ให้ความสำคัญกับการจัดการผลกรรมมากที่สุด ผลกรรมที่สำคัญนั้น Skinner แบ่งออกเป็น3ประเภทด้วยกันคือ
1.               ตัวเสริมแรงทางบวก (PositiveReinforcer) คือผลกรรมที่ตามหลังพฤติกรรม แล้วทำให้พฤติกรรมนั้น เกิดบ่อยครั้งขึ้น หรือเกิดขึ้นสม่ำเสมอ กระบวนการที่ให้ผลกรรมแล้วทำให้พฤติกรรมเกิดบ่อยครั้งขึ้นนั้นเรียกว่า การเสริมแรงทางบวก (Positive Reinforcement)  เช่นการที่คนเราทำงานแล้วได้เงินเดือน เงินเดือนก็เป็นตัวเสริมแรงทางบวกให้คนเราทำงานบ่อยครั้ง หรือการที่เราแต่งตัวให้ดูดีแล้วได้รับคำชมว่าแต่งตัวเป็น ก็ทำให้เราแต่งตัวดีทุกครั้งที่ออกงาน คำชมก็จัดได้ว่าเป็นตัวเสริมแรงทางบวกต่อพฤติกรรมการแต่งตัวดีของเราเป็นต้น
2.               ตัวลงโทษ (Punisher) คือผลกรรมที่ตามหลังพฤติกรรม แล้วทำให้พฤติกรรมนั้น ลดลงหรือยุติลง กระบวนการที่ให้ผลกรรมแล้วทำให้พฤติกรรมลดลงหรือยุติลงนั้นเรียกว่า การลงโทษ (Punishment) เช่นการที่เราขับรถเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนดแล้วถูกตำรวจจับ ปรับเงินไป 500บาท ทำให้เราไม่ขับรถเร็วอีกเลย การถูกปรับเงิน ก็จัดได้ว่าเป็นการลงโทษพฤติกรรมการขับรถเร็วของเรานั่นเอง
3.               การหยุดยั้ง (Extinction) คือการยุติการให้การเสริมแรง ต่อพฤติกรรมที่เคยได้รับการเสริมแรง กระบวนการดังกล่าวจะส่งผลทำให้พฤติกรรมนั้น ลดลงหรือยุติลงในเวลาต่อมา แต่ก่อนที่จะลดลง อาจมีการเกิดการระเบิดของพฤติกรรมขึ้นได้ เช่น การที่เด็กไปที่ศูนย์การค้ากับแม่และขอให้แม่ชื้อของให้ แม่ก็ชื้อให้แทบทุกครั้ง (แม่ให้การเสริมแรงทางบวกต่อพฤติกรรมการขอให้แม่ชื้อของให้) วันหนึ่งแม่ตัดสินใจไม่ชื้อให้เนื่องจากเห็นว่าไม่เหมาะสม แสดงว่าแม่กำลังใช้การหยุดยั้ง ผลจากการใช้การหยุดยั้งจะพบว่า เด็กจะขอด้วยเสียงอันดังขึ้น และอาจระเบิดถึงขั้นดิ้นกับพื้นได้ ซึ่งเราเห็นเหตุการณ์นี้ได้บ่อยๆในศูนย์การค้า แสดงว่าเด็กถูกการหยุดยั้งนั่นเอง

ประเภทของตัวเสริมแรงทางบวก
ตัวเสริมแรงทางบวกสามารถแบ่งออกได้เป็น 5ประเภทด้วยกันคือ
1.               ตัวเสริมแรงทางสังคม (Social Reinforcer) ได้แก่คำชม คำยกย่อง การให้ข้อมูลป้อนกลับทางบวก การกอด การแตะตัว การแสดงการยอมรับ เป็นต้น
2.               ตัวเสริมแรงที่เป็นวัตถุสิ่งของ (Material Reinforcer) ได้แก่สิ่งของต่างๆ เช่น รถ บ้าน เสื้อผ้า  น้ำหอม  และรวมทั้ง อาหารและขนม เป็นต้น
3.               ตัวเสริมแรงที่เป็นกิจกรรม หรือที่รู้จักในนามของหลักการของ Premack (Premack’s Principle) เป็นการใช้กิจกรรมที่บุคคลชอบมากมาเสริมแรงกิจกรรมที่บุคคลไม่ชอบทำหรือทำน้อย เพื่อให้บุคคลนั้นทำกิจกรรมนั้นมากขึ้น เช่นการที่เด็กชอบเล่นเกมแต่ไม่ชอบทำการบ้าน  ก็สามารถเพิ่มพฤติกรรมการทำการบ้านของเด็กได้ โดยบอกให้เด็กทำการบ้านก่อนแล้วจึงค่อยเล่นเกม เป็นต้น
4.               เบี้ยอรรถกร (Tokens Economy) เป็นการใช้เบี้ย คะแนน หรือดาว เป็นตัวเสริมแรง โดยที่เบี้ย คะแนนหรือดาวนั้นสามารถนำไปแลกตัวเสริมแรง อื่นๆได้ ตัวอย่างของเบี้ยอรรถกรที่เห็นได้ชัดคือ เงิน คูปองแลกของ หรือแต้มสะสมของบัตรเครดิต ที่สามารถนำไปแลกสิ่งของต่างๆได้ตามที่ต้องการ
5.               ตัวเสริมแรงภายใน (Covert Reinforcer) ได้แก่ความภูมิใจ หรือความสุข เป็นต้น

ตารางการเสริมแรง (Schedules of Reinforcement)
การเสริมแรงทางบวกสามารถดำเนินการได้ 2 วิธีด้วยกัน คือ
1.               การเสริมแรงแบบทุกครั้งที่เกิดพฤติกรรม (Continuous Reinforcement) นั่นคือการให้การเสริมแรงทุกครั้งที่พฤติกรรมเป้าหมายเกิดขึ้น การดำเนินการเช่นนี้จะทำให้พฤติกรรมที่ได้รับการเสริมแรงเกิดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เหมาะกับการพัฒนาพฤติกรรมใหม่ให้เกิดขึ้น เพราะคนเราจะเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว แต่จุดอ่อนของการเสริมแรงแบบนี้คือ ถ้าหยุดให้การเสริมแรง พฤติกรรมที่เคยได้รับการเสริมแรงนั้นจะลดลงอย่างรวดเร็ว
2.               การเสริมแรงแบบครั้งคราว (Intermittent Reinforcement) เป็นการให้การเสริมแรงแบบไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับเวลาหรือจำนวนครั้งของการแสดงพฤติกรรม ซึ่งการเสริมแรงแบบครั้งคราวนี้ นำมาใช้เพื่อแก้จุดอ่อนของการเสริมแรงแบบทุกครั้งที่เกิดพฤติกรรม แต่ไม่เหมาะกับการใช้เพื่อพัฒนาพฤติกรรมใหม่ แต่ควรใช้เมื่อพฤติกรรมใหม่ได้พัฒนาขึ้นมาแล้วและต้องการให้พฤติกรรมนั้น เกิดขึ้นสม่ำเสมอ

การชี้แนะ (Prompting)
การชี้แนะคือการจัดการกับเงื่อนไขนำนั่นเอง ทำได้โดยการให้สัญญาณ (Signs) หรือตัวชี้แนะ (Cues) เพื่อให้คนเราแสดงพฤติกรรมออกมา อย่างที่เราต้องการให้แสดงออก ซึ่งการชี้แนะสามารถทำได้ 3 วิธีด้วยกันคือ
1.               การชี้แนะโดยการใช้คำพูด (Verbal prompt) เป็นการใช้คำพูดให้คนเราทำพฤติกรรมบางอย่าง เช่น บอกให้เงียบ บอกให้เข้าชั้นเรียน หรือบอกให้แบ่งปันของเล่นให้กับเพื่อน เป็นต้น
2.               การชี้แนะโดยการใช้สัญญาณ (Sign prompt) คือการใช้สัญลักษณ์ต่างให้คนเราทำตาม เช่น สัญลักษณ์ห้ามสูบบุหรี่ สัญลักษณ์ห้องน้ำ สัญญาณจราจรเป็นต้น
3.               การชี้แนะโดยการใช้ร่างกาย (Physical prompt) คือการใช้ร่างกายชี้แนะให้คนเราทำตาม เช่นการจับมือให้เด็กเขียนหนังสือ หรือจับซ้อนรับประทานอาหาร เป็นต้น

การแต่งพฤติกรรม (Shaping)
การแต่งพฤติกรรมเป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้ในการพัฒนาพฤติกรรมใหม่ให้กับคนเรา โดยใช้หลักการการคาดคะเนความสำเร็จตามขั้นตอน (Successive approximation) เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปทีละพฤติกรรมเพื่อนำไปสู่พฤติกรรมที่ต้องการ ส่วนวิธีดำเนินการนั้นมักจะใช้การชี้แนะร่วมกับการเสริมแรงทางบวก เช่นการฝึกการใช้โปรแกรม SPSS ก็อาจจะเริ่มจากการเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ การเลือกโปรแกรม การใส่ข้อมูล และการใช้เมนูในการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นต้น

การแผ่ขยายสิ่งเร้า (Stimulus Generalization)
การแผ่ขยายสิ่งเร้าคือการที่คนเราสนองตอบในลักษณะเดียวกันต่อสิ่งเร้าที่มีลักษณะใกล้เคียงกับ
สิ่งเร้าที่เคยเรียนรู้มาก่อน เช่น การที่นักศึกษากลัวอาจารย์ท่านหนึ่งในวิทยาลัย และต่อมากลัวอาจารย์ท่านอื่นๆในวิทยาลัย สุดท้ายกลัวที่จะไปวิทยาลัย ลักษณะดังกล่าว กล่าวได้ว่าเกิดการ
แผ่ขยายสิ่งเร้าขึ้นแล้ว แต่ถ้านักศึกษากลัวอาจารย์ท่านหนึ่งและไม่กลัวท่านอื่นๆอีก เราเรียกกระบวนการดังกล่าวว่าเกิดการเรียนรู้การแยกแยะสิ่งเร้า (Stimulus Discrimination) ชึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อกระบวนการเรียนรู้

ทฤษฏีการเรียนรู้ทางปัญญาสังคม (Social Cognitive Theory)
ทฤษฎีนี้มีความเชื่อว่าพฤติกรรมของคนเราส่วนใหญ่นั้น เกิดขี้นจากการสังเกตพฤติกรรมของตัวแบบในสภาพแวดล้อม (Bandura, 1977)  ตัวแบบในสภาพแวดล้อม สามารถแบ่งออกได้เป็น 2ชนิดด้วยกันคือ ตัวแบบที่เป็นชีวิตจริง (Live Model) เป็นตัวแบบที่มีคนเราเผชิญในชีวิตจริง เช่น พ่อ แม่ ญาติพี่น้อง ครู เพื่อน เป็นต้น ตัวแบบอีกชนิดหนึ่งคือ ตัวแบบสัญลักษณ์ (Symbolic Model) เป็นตัวแบบที่ทีเราเห็นโดยผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาพยนตร์ ทีวี หนังสือพิมพ์ การ์ตูน นิยาย เป็นต้น ตัวแบบทั้ง2ชนิดนี้มีผลต่อการเรียนรู้ของคนเราไม่แตกต่างกัน หากแต่ตัวแบบสัญลักษณ์ มีผลในวงกว้างกว่าเท่านั้น

เนื่องจากตัวแบบที่มนุษย์เราต้องเผชิญอยู่นั้นมีมากมาย  คำถามที่ตามมาคือ แล้วทำไมตัวแบบบางตัวมีอิทธิพลต่อคนบางคนมากกว่าอีกบางคน คำตอบอยู่ทีกระบวนการลอกเลียนแบบ ซึ่ง Bandura (1977) กล่าวว่ากระบวนการลอกเลียนแบบมีอยู่ด้วยกัน 4กระบวนการคือ
          1. กระบวนการสนใจ (Attention Process) นั่นคือผู้สังเกตจะต้องมีความสนใจในตัวแบบเสียก่อน จึงจะมีความคิดอยากลอกเลียนแบบ ซึ่งตัวแบบจะต้องมีลักษณะเด่น มีชื่อเสียง น่าสนใจ หรือมีลักษณะคล้ายกับผู้สังเกต อีกทั้งเป็นตัวแบบที่แสดงออกแล้วได้รับการเสริมแรง หรือการลงโทษ จะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ตัวแบบที่ได้รับการเสริมแรงจะทำให้ผู้สังเกตอยากทำตามแต่ในทางกลับกันตัวแบบที่แสดงพฤติกรรมแล้วถูกลงโทษ ผู้สังเกตก็จะไม่อยากลอกเลียนแบบพฤติกรรมนั้น นอกจากลักษณะของตัวแบบแล้ว สภาวะของผู้สังเกตก็มีผลต่อการให้ความสนใจในตัวแบบด้วย ถ้าผู้สังเกตอยู่ในสภาวะตื่นตัวก็จะให้ความสนใจในตัวแบบ แต่ถ้าเพลียหรือง่วงนอนก็จะไม่สนใจตัวแบบ นอกจากนี้ผู้สังเกตจะต้องไม่ถูกสิ่งเร้าอื่นๆดึงดูดความสนใจออกไปในขณะที่สังเกตตัวแบบอยู่
         2. กระบวนการจดจำ (Retention Process) เมื่อผู้สังเกตสังเกตพฤติกรรมของตัวแบบแล้ว การที่จะเรียนรู้จากตัวแบบได้ดี ผู้สังเกตจะต้องสามารถจดจำพฤติกรรมที่ตัวแบบแสดงออกได้ ซึ่งการที่จะจดจำได้ดีนั้น ลักษณะของตัวแบบจะต้องเป็นสิ่งที่ผู้สังเกตมีความคุ้นเคย หรือไม่ก็จะต้องเห็นบ่อยๆ และจะช่วยให้กระบวนการจดจำนั้นเป็นไปได้ด้วยดี ก็ควรจะต้องมีการชักซ้อมทั้งในการแสดงออกจริงๆ หรือ ชักซ้อมในความคิดก็ได้
         3. กระบวนการทำตาม (Reproduction Process) นั่นคือหลังจากที่ผู้สังเกตจดจำพฤติกรรมของตัวแบบได้ดีแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการทำตามตัวแบบ กระบวนการนี้จะทำได้ดีถ้ามีการให้ข้อมูลป้อนกลับ เมื่อลองทำตามพฤติกรรมของตัวแบบ  อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับความสามารถเดิมที่ผู้สังเกตมีอยู่
เช่น การที่ผู้ที่มีพื้นฐานทางด้านการเล่นเทนนิสเมื่อดูนักเทนนิสระดับโลกแข่งกันก็จะสามารถจดจำท่าต่างๆได้ง่าย และสามารถทำตามได้ง่ายกว่า  ผู้ที่ไม่มีพื้นฐานทางด้านการเล่นเทนนิสมาก่อนเลย
       4. กระบวนการแรงจูงใจ (Motivation Process) เป็นกระบวนการสุดท้ายที่จะทำให้ผู้สังเกตตัดสินใจจะทำตามพฤติกรรมของตัวแบบ นั่นคือผู้สังเกตจะพิจารณาดูว่าในสภาพการณ์ใด ที่แสดงพฤติกรรมตามตัวแบบแล้วได้รับการเสริมแรง การที่คาดว่าจะได้รับการเสริมแรงนี่เองทำให้เป็นแรงจูงใจที่ทำให้ผู้สังเกต แสดงพฤติกรรมตามตัวแบบที่ตนเองลอกแบบมา 

การรับรู้ความสามรถของตนเองจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการแสดงออกของบุคคลในชีวิตประจำวัน เพราะปัจจัยหนึ่งของความสำเร็จในการใช้ชีวิตของคนเราก็คือการรับรู้ความสามารถของตนเองนั่นเอง         
               
การนำเอาแนวความคิดของทฤษฎีการเรียนรู้ไปพัฒนาพฤติกรรม
เนื่องจากการเรียนรู้นั้นก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งพฤติกรรมภายในและพฤติกรรมภายนอก การนำเอาแนวคิดการเรียนรู้ไปใช้พัฒนาพฤติกรรมของคนเรา สามารถที่จะเริ่มจากการพัฒนาพฤติกรรมภายในไปสู่พฤติกรรมภายนอก หรือจากพฤติกรรมภายนอกไปสู่พฤติกรรมภายในก็ได้ ทั้งนี้เนื่องจากพฤติกรรมทั้งสองประเภทนี้มีผลซึ่งกันและกันนั่นเอง แต่ในกระบวนการพัฒนาตนนั้น ผู้เขียนมีความเห็นว่าควรจะเริ่มต้นจากพฤติกรรมภายในไปสู่พฤติกรรมภายนอก เพราะว่าคนเรานั้นควรจะมีความตระหนักหรือต้องการที่จะพัฒนาตัวเองเสียก่อน จึงจะทำให้กระบวนการพัฒนาตนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังนั้นขั้นตอนในการพัฒนาตนนั้นจึงควรเริ่มจากการ  คิดดี  พูดดี และทำดี  ซึ่งถ้าทุกคนทำได้ก็จะทำให้สังคมมีความสงบ และความสุขมากขึ้น
การคิดดี หรือคิดในทางบวกนั้น เป็นจุดเริ่มต้นที่นักศึกษาทุกคนควรจะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกในการพัฒนาตน ซึ่งในการที่จะพัฒนาตนได้นั้นนักศึกษาจะต้องพิจารณาใน 3 ประเด็นต่อไปนี้
1.นักศึกษาต้องมีความตระหนักในตนเอง ซึ่งหมายความว่า นักศึกษาต้องรู้ตนเองตลอดเวลาว่าตนกำลังคิดอะไรอยู่หรือกำลังทำอะไรอยู่  เพราะถ้าบุคคลใดไม่รู้ตนเองว่าตนเองกำลังคิดหรือทำอะไรอยู่ บุคคลนั้นก็ไม่มีโอกาสที่จะพัฒนาตนเองได้เลย ซึ่งวิธีการที่จะทำให้ตนเองมีความตระหนักได้นั้นสามารถทำได้โดยการที่นักศึกษาอาจจะจดบันทึกสิ่งที่ตนเองคิดหรือกระทำทุกวัน และนำข้อมูลเหล่านั้นมาพิจารณา ก็จะทำให้นักศึกษาทราบว่าตนเองมีความคิดหรือพฤติกรรมเช่นใด สมควรพัฒนาไปในทิศทางใด มากน้อยเพียงไร เช่น นักศึกษาอาจคิดว่าตนเองไม่มีเวลาอ่านหนังสือ นักศึกษาอาจเริ่มต้นโดยบันทึกว่า ในวันหนึ่งๆนั้น ตนเองได้ใช้เวลาทำอะไรบ้าง การบันทึกเช่นนี้ทำให้นักศึกษาได้รู้ถึงเวลาที่ใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ ทำให้สามารถตัดสินใจได้ว่าควรจะจัดการอย่างใดกับเวลาที่ใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆในแต่ละวันเพื่อให้มีเวลาในการอ่านหนังสือได้ หรือนักศึกษาอาจมีความวิตกกังวลกับการสอบ เนื่องจากกลัวว่าจะทำข้อสอบไม่ได้ดี ทำให้เกิดความวิตกกังวลสูง อาจมีผลทำให้หมดกำลังใจในการอ่านหนังสือ ซึ่งการมีข้อมูลเหล่านี้จะทำให้เราเข้าใจและสามารถหาทางแก้ไขปัญหาได้
2.นักศึกษาจะต้องมีความคิดว่า สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองนั้นเป็นผลมาจากการกระทำของตนเอง การที่จะทำคะแนนสอบได้ดี การที่มีเพื่อนมาก หรือการที่มีคนยอมรับตนเองนั้น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากผลของการกระทำของเราทั้งสิ้น นั่นคือนักศึกษาสามารถจะบอกตนเองได้ว่า อดีตผ่านไปแล้วแก้ไขอะไรไม่ได้ อนาคตเป็นสิ่งที่เรามีทางเลือก ดังนั้น ถ้าเราเลือกที่จะประสบความสำเร็จเราก็จะสำเร็จ แต่ถ้าเราเลือกที่จะเชื่อว่าสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะคนอื่น หรือโชคชะตา เราก็จะไม่มีโอกาสได้พัฒนาตนเอง เพราะเรามัวแต่จะรอให้คนอื่นแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง หรือรอโชคชะตา ดังนั้น ประเด็นนี้จึงสำคัญมาก นักศึกษาต้องบอกเสมอว่า อนาคตเราเป็นผู้สร้าง  ผู้กระทำ เราจึงต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
3.นักศึกษาจะต้องมีความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเองไปในทางที่ดีขึ้น เพราะถ้าปราศจากซึ่งความปรารถนาทีจะเปลี่ยนแปลง นักศึกษาก็จะขาดแรงจูงใจที่จะกระทำ ดังนั้น นักศึกษาจะต้องบอกตนเองว่า ฉันต้องการพัฒนาตนเอง และฉันจะทำเดี๋ยวนี้ อย่ารอเวลาเพราะถ้ารอเราจะไม่มีโอกาสได้พัฒนาตนเองอีกเลย
เทคนิคการหยุดความคิด (Thought stopping)
เทคนิคการหยุดความคิด เป็นเทคนิคที่เหมือนกับการลงโทษ นั้นคือเมื่อคนเรามีความคิดทางลบเกิดขึ้น ก็จะตระโกนในใจตัวเองว่า หยุด ซึ่งการทำเช่นนั้นจะทำให้ความคิดในขณะนั้นหยุดลงและเมื่อความคิดในขณะนั้นหยุดลงแล้วเราก็จะต้องสร้างความคิดใหม่เข้าไปทดแทน หลักการดังกล่าวดูเหมือนว่าจะทำได้ง่าย แต่ขั้นตอนในการดำเนินการนั้นต้องอาศัยความตั้งใจจริงและความอดทนพอสมควร จึงจะสามารถทำให้เราสามารถหยุดความคิดทางลบและพัฒนาความคิดทางบวกขึ้นมาได้ ซึ่งขั้นตอนในการฝึกนั้นทำได้ดังต่อไปนี้
                ขั้นที่ 1 ให้นักศึกษานั่งในท่าที่สบายๆ หลับตาและเริ่มคิดในเรื่องทางลบที่รบกวนนักศึกษาอยู่ในขณะนี้ เช่น ใกล้จะสอบแล้วกลัวว่าจะสอบตกเพราะเรียนไม่รู้เรื่อง หรือชีวิตนี้อยู่ไม่ได้แล้วเพราะฉันเป็นคนไม่ดี คนรักจึงทิ้งไปหาคนอื่น
                ขั้นที่ 2 ขั้นฝึกหยุดความคิด ในขั้นนี้เป็นขั้นที่ต่อจากขั้นที่ 1 ซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธีเป็นอย่างน้อย ได้แก่ วิธีที่ 1 ตั้งนาฬิกาจับเวลาโดยที่ให้มีเสียงดังของนาฬิกาทุกๆ 3 นาที  เริ่มตั้งเวลาพร้อมกับคิดในทางลบ และเมื่อเสียงนาฬิกาดังขึ้นให้ตระโกนด้วยเสียงอันดังว่า หยุด  การทำเช่นนี้จะทำให้ความคิดในขณะนั้นหยุดชะงักลง ซึ่งนักศึกษาควรจะปล่อยให้ความคิดนั้นหยุดไปประมาณ 30 วินาที ซึ่งถ้าความในทางลบกลับมาเกิดขึ้นก่อนหมดเวลา 30 วินาที ก็ให้ตะโกนช้ำอีกว่า หยุด ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆจนกว่าจะสามารถควบคุมความคิดทางลบให้หยุดได้ ซึ่งการตะโกนนั้นจะเริ่มจากตะโกนเสียงดัง และค่อยๆเบาลง  เบาลง จนกระทั่งตะโกนในใจ  ส่วนวิธีการที่ 2 นักศึกษาอาจไม่ต้องใช้นาฬิกาจับเวลาหากแต่ใช้เทปบันทึก คำว่า หยุด โดยบันทึกเสียงตะโกนว่าหยุดของตัวเองลงในเทปในช่วงเวลาที่ต่างกัน เช่น 3 นาทีบ้าง 2 นาทีบ้าง หรือ 1 นาทีบ้าง สลับกันไปโดยไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับ ถ้าให้ดีควรจะใช้หูฟังร่วมด้วย ซึ่งก็ทำเช่นเดียวกับวิธีการที่ 1 คือ ฟังเทปพร้อมทั้งคิดในเรื่องที่เป็นทางลบ ที่รบกวนตนเองอยู่ในขณะนี้ และเมื่อได้ยินเสียงคำว่าหยุดจากเทป ก็ให้ตะโกนว่าหยุดเช่นกัน ซึ่งเสียงตะโกนนี้จะต้องค่อยๆเบาลง เบาลง จนตระโกนในใจ
                ขั้นที่ 3 หลังจากฝึกการควบคุมความคิดโดยการหยุดความคิดตนเองได้แล้วเป็นเวลาช่วงสั้น ๆ คือ 30 วินาที  จากนั้นก็ให้ใส่ความคิดทางบวกเข้าไปทดแทน เช่นกรณีที่กลัวเรื่องการสอบก็ให้บอกตนเองว่ามันน่าตื่นเต้นมากเลยที่เราจะต้องแสดงให้อาจารย์รู้ว่าเราเก่งแค่ไหน หรือถึงเวลาแล้วที่เราจะแสดงความสามารถให้คนอื่นเห็น กรณีที่ถูกคนรักทิ้ง ก็ให้คิดว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกคบคนได้ และเราก็อาจจะได้เจอคนใหม่ที่ดีกว่านี้ก็ได้
การคิดในทางบวก (Positive thinking) หรือ การพูดกับตัวเองในทางบวก (Positive self-talk)
หลังจากที่นักศึกษาได้ฝึกหยุดความคิดของตนเองแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ควรฝึกคือ การคิดในทางบวก หรือการพูดกับตนเองในทางบวก เพราะดังที่กล่าวไว้ข้างตนแล้วว่าการกระทำของคน เรานั้นเป็นผลพวงจากความคิดและความเชื่อของตนเอง นักศึกษาต้องมีความเชื่อก่อนว่า เราสามารถกำหนดอนาคตของตนเองได้ ซึ่งการที่จะกำหนดอนาคตของตนเองได้นั้น เราต้องแน่ใจก่อนว่าเราสามารถกำหนดความคิดของตนเองได้ ซึ่งถ้าเราคิดว่าทำไม่ได้เราก็จะทำไม่ได้ ถ้าเราเชื่อหรือคิดว่าทำได้เราจะประสบผลสำเร็จอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ และอีก 50 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่การกระทำของตัวเราเอง นักจิตวิทยามีความเชื่อว่าสิ่งที่จะทำร้ายคนเราได้มากที่สุดคือความคิดทางลบของคนเรานั่นเอง และทางการแพทย์ก็เชื่ออีกด้วยว่าร้อยละ  75 ของความเจ็บป่วยของคนเราเป็นผลมาจากความคิดทางลบของคนเรานั่นเอง ดังนั้น นักศึกษาต้องเริ่มที่จะเปลี่ยนความคิดหรือความเชื่อของตนเองจากทางลบให้เป็นทางบวก โดยการพยายามสังเกตตนเองว่า ตนเองมีความคิดหรือการพูดถึงตนเองในทางลบอย่างไรบ้าง
เทคนิคการสื่อสาร
เทคนิคการสื่อสารมีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบแต่ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะการสื่อสารที่เป็นคำพูดเท่านั้นการสื่อสารที่ดีหรือการพูดดีจะนำไปสู่การสร้างมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี ซึ่งการฝึกการสื่อสารที่ดีนั้นทำได้ไม่ง่ายนัก นักศึกษาจะต้องเรียนรู้ถึงกระบวนการการสื่อสารที่ดี ซึ่งการสื่อสารในที่นี้หมายถึงกระบวนการที่มีผู้ส่งข่าวสารไปให้กับผู้รับเพื่อให้มีความเข้าใจร่วมกัน ซึ่งถ้าทั้งผู้ส่งและผู้รับยังไม่มีความเข้าใจร่วมกันถือว่ายังไม่มีการสื่อสาร (Lussier,1993) เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมากที่เรามักพบว่าการสื่อสารนั้น ส่วนใหญ่เรามักใช้คำพูด และเป็นที่น่าสนใจมากไปนั้นอีกว่า สิ่งที่เราได้ยินจากคำพูดนั้นร้อยละ 75 ของสิ่งที่ได้ยินจะได้ยินไม่ชัดเจน และร้อยละ 75 ของสิ่งที่เราได้ยินชัดเจนเราจะลืมไปภายใน 3 สัปดาห์ (Maidment,1985) ถ้าสิ่งที่ Maidment กล่าวไว้เป็นจริงแสดงว่าคนเรานั้นมีปัญหาในการสื่อสารอย่างแน่นอน และปัญหาที่เราพบในสังคมส่วนใหญ่ ถ้าเราพิจารณาให้ดีมักเกิดจากการสิ่งสารที่ไม่มีประสิทธิภาพนั้นเอง ซึ่ง Hansen (1985) ได้กล่าวว่าเหตุที่การสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพนั้นเป็นเพราะว่าบุคคลไม่มีความสามารถหรือไม่มีความปรารถนาที่จะสื่อสารนั่นเอง

การสื่อสารมีเป้าหมายอยู่ด้วยกัน 3 ประการ คือ ประการแรก เพื่อที่จะเข้าไปมีอิทธิพลต่อความคิดหรือการกระทำของผู้อื่น ประการที่ 2 เพื่อเป็นการให้ข้อมูล และประการสุดท้ายเพื่อแสดงความรู้สึกที่ตนเองมี  การสื่อสารเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากในการที่จะสร้างมนุษย์สัมพันธ์กับผู้อื่น แน่นอนการมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีหรือไม่ดีนั้นขึ้นอยู่กับวิธีการสื่อสารที่ใช้
ขั้นตอนในกระบวนการสื่อสาร กระบวนการสื่อสารนั้นอาจแบ่งออกได้เป็น 4 ขั้นคือ
1.               การเลือกสื่อที่ใช้ในการสื่อสาร
2.               การส่งข่าวสาร
3.การรับข้อมูลข่าวสาร
4.การสนองตอบต่อข้อมูลข่าวสาร
การฝึกพฤติกรรมการกล้าแสดงออก (Assertive Training)               
ในการทำดีนั้นนักศึกษาควรจะได้รับการฝึกพฤติกรรมการกล้าแสดงออก หรืออีกนัยหนึ่งคือการฝึกทักษะทางสังคม (Social Skills Training)คำถามในเชิงวิชาการคือพฤติกรรมการกล้าแสดงออกกับพฤติกรรมทักษะทางสังคมแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร จากจุดเริ่มต้น พฤติกรรมการกล้าแสดงออกนั้นมาจากแนวคิดของจิตแพทย์ ชื่อ Wolpe ที่ให้ความหมายของพฤติกรรมการกล้าแสดงออกว่า เป็นการแสดงออกถึงความคิด ความรู้สึกของตนเองได้อย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ทั้งนี้ต้องแสดงออกโดยไม่รู้สึกกังวลหรือกลัว ดังนั้น พฤติกรรมการกล้าแสดงออกจะเกี่ยวพันกับความวิตกกังวลหรือความกลัว แต่ทว่าพฤติกรรมการแสดงออกทางสังคมที่เหมาะสมนั้น มีลักษณะของการแสดงออกคล้ายกับพฤติกรรมการกล้าแสดงออก หากแต่ไม่เกี่ยวข้องกับความวิตกกังวลหรือความกลัวที่แสดงออก ทั้งนี้จะใช้ในกรณีที่บุคคลนั้นขาดทักษะทางสังคมที่เหมาะสมเท่านั้นเอง แต่ปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่า นักจิตวิทยาจำนวนมากที่เขียนเกี่ยวกับพฤติกรรมการกล้าแสดง ออกและพฤติกรรมทักษะทางสังคม มักใช้คำนี้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยไม่แยกแยะว่าบุคคลนี้จะมีความกลัวหรือความวิตกกังวลหรือไม่

วิธีการฝึกพฤติกรรมการกล้าแสดงออก หรือ การฝึกทักษะทางสังคมที่เหมาะสม
วิธีการฝึกพฤติกรรมการกล้าแสดงออก หรือการฝึกทักษะทางสังคมที่เหมาะสมนั้น อาจทำได้ โดยใช้วิธีการดังต่อไปนี้
1.               ใช้การชักซ้อมพฤติกรรม หรือการเล่นบทบาทสมมุติ โดยบทบาทสมมุติที่ให้ผู้เข้ารับการฝึก
       ชักซ้อมนั้นผู้เข้ารับการฝึกจะต้องฝึกแสดงออกให้เป็นธรรมชาติและไม่มีความวิตกกังวลที่จะ 
       แสดงออก ถ้าจะให้ดีควรจะฝึกต่อหน้ากระจก และมีอาจารย์แนะแนวเป็นผู้สังเกต ให้ข้อมูล 
       ชี้แนะแก้ไข
2.               การให้ข้อมูลป้อนกลับ บางครั้งผู้ฝึกพฤติกรรมการกล้าแสดงออก ไม่แน่ใจว่าพฤติกรรมที่ตนเองแสดงออกนั้นเหมาะสมแล้วหรือยัง  จำเป็นจะต้องมีผู้รู้ ซึ่งอาจเป็นนักจิตวิทยา หรืออาจารย์แนะแนว คอยสังเกตและให้ข้อมูลป้อนกลับ ว่าพฤติกรรมดังกล่าวแสดงออกได้เหมาะสมแล้วหรือยัง ควรปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในด้านใดบ้าง อันจะทำให้การฝึกนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น
3.               การใช้ตัวแบบ ในการฝึกพฤติกรรมการกล้าแสดงออกนั้น การเสนอตัวแบบให้ดูจะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกนั้นเห็นขั้นตอนและการแสดงออกได้ชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้การเรียนรู้เป็นไปได้ง่ายขึ้น เมื่อผู้เข้ารับการฝึกสังเกตตัวแบบแล้วก็จะแสดงออกตามตัวแบบนั้น การให้ข้อมูลป้อนกลับก็จะนำมาใช้หลังจากผู้เข้ารับการฝึกนั้นแสดงออกตามตัวแบบแล้ว
4.               การใช้การจิตนาการ การใช้การจินตนาการนั้นทำได้โดยให้ผู้เข้ารับการฝึกจิตนาการว่าตนเองกำลังแสดงพฤติกรรมการกล้าแสดงออกในสถานการณ์ที่ตนเองมีปัญหาในการแสดงออก แต่ถ้ายังไม่สามารถจินตนาการถึงการแสดงออกของตนได้ ก็อาจจะเริ่มจากการจินตนาการถึงบุคคลอื่นที่แสดงพฤติกรรมการกล้าแสดงออกในสภาพการณ์ที่ตนเองไม่กล้าแสดงออก จินตนาการไปเช่นนี้จนกระทั่งเกิดความเคยชิน จากนั้นจึงค่อยเปลี่ยนมาเป็นการจิตนาการถึงตนเองแสดงพฤติกรรมเช่นเดียวกับตัวแบบในจินตนาการแทน ให้จิตนาการเช่นนี้ทุกๆวันอย่างน้อยวันละครั้งจนเกิดความรู้สึกเคยชิน จากนั้นก็ให้ผู้เข้ารับการฝึกนั้นลองแสดงออกให้ดูจริงๆถ้าแสดงออกได้เหมาะสม ถือว่าสิ้นสุดการฝึกได้
5.               การใช้การเสริมแรงทางบวก ในการฝึกพฤติกรรมการกล้าแสดงออกนั้น การให้การเสริมแรงทางบวกมีความสำคัญอย่างมากต่อการจูงใจให้ผู้เข้ารับการฝึกนั้น มีกำลังใจที่จะฝึกต่อไป ดังนั้นผู้ฝึกจะต้องใช้การเสริมแรงทางบวกใหัเป็นโดยอย่างน้อยที่สุดผู้ฝึกจะต้องรู้จักใช้การเสริมแรงทางสังคมไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของคำพูดหรือท่าทาง ส่วนผู้เข้ารับการฝึกก็ควรจะรู้จักวิธีการเสริมแรงตนเอง อันจะช่วยให้การฝึกมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ข้อควรระวัง     การฝึกพฤติกรรมการกล้าแสดงออกนั้นไม่จำเป็นที่นักศึกษาทุกคนควรจะต้องฝึก ไม่ว่านักศึกษาคนนั้นจะมีพฤติกรรมการยอมจำนน หรือพฤติกรรมก้าวร้าวที่มากเกินไปก็ตาม ตราบใดที่พวกเขาไม่รู้สึกว่าพฤติกรรมเหล่านั้นเป็นปัญหาของพวกเขา และพวกเขายังมีความสุขกับสิ่งที่พวกเขาเป็นอยู่ เพราะการไปทำให้พวกเขาเหล่านั้นเปลี่ยนพฤติกรรมไป อาจเป็นผลเสียมากกว่าที่พวกเขาเป็นอยู่ในขณะนี้ก็ได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงใดๆก็ตาม  อาจนำไปสู่การต่อต้านและการปรับตัวอย่างมาก ซึ่งถ้าพวกเขาไม่พร้อมที่จะรับกับสภาพของการเปลี่ยนแปลงก็อาจนำไปสู่ปัญหาที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
ประเด็นต่อมาคือผู้ฝึกจะต้องบอกผู้ที่จะเข้ารับการฝึกพฤติกรรมการกล้าแสดงออกว่าผลของการแสดงออกของพฤติกรรมการกล้าแสดงออกนั้นอาจจะไม่เป็นบวกไปทั้งหมด ในตอนแรกอาจจะโดนต่อต้านได้จากผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ใกล้ชิด แต่ในระยะยาวนั้นผลดีย่อมเกิดขึ้นแน่นอน เมื่อผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ใกล้ชิดเริ่มปรับตัวและยอมรับ
                นอกจากนี้ยังต้องบอกกับผู้เข้ารับการฝึกด้วยว่า พฤติกรรมการกล้าแสดงออกนั้นไม่จำเป็นต้องแสดงออกในทุกสภาพการณ์และทุกเวลา เพราะในบางสภาพการณ์ บางเวลาอาจนำอันตรายมาสู่ตนเองได้ เช่น ถ้ามีบุคคลที่แสดงเป็นอันธพาลมาแซงคิว แน่นอนเขาละเมิดสิทธิของเรา แต่ถ้าเราแสดงพฤติกรรมการกล้าแสดงออกเพื่อรักษาสิทธิแห่งตน ก็อาจถูกทำร้ายร่างกายได้ ในกรณีนี้พฤติกรรมการยอมจำนนน่าจะเหมาะสมกว่า
ข้อสรุปคือ  ทุกคนควรจะมีพฤติกรรมทั้งสามรูปแบบและเลือกใช้ให้เหมาะกับสภาพการณ์น่าจะ
เหมาะสมกว่า แต่ทั้งนี้พฤติกรรมการกล้าแสดงออกน่าจะเป็นลักษณะของพฤติกรรมหลักมากกว่า และทุกครั้งที่แสดงพฤติกรรม จะต้องระลึกไว้เสมอว่าจะต้องไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน